ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ มารู้จักองค์ประกอบของระบบโซลาร์เซลล์กันสักหน่อย

 

แต่เดิมมีเพียงกลุ่มบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการสร้างไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เพราะการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนหลากหลาย ถึงจะสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาจนถึงวันนี้เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ขนาดของอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง จนตอนนี้แม้แต่บ้านพักอาศัย อาคารระดับครัวเรือนทั่วไปก็สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) เพื่อแปลงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันได้ เพื่อการประหยัดค่าไฟฟ้าและช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านการใช้พลังงานทดแทน

ระบบโซลาร์เซลล์ มี 2 ส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ตัวแผงโซลาร์เซลล์ ที่ทำหน้าที่รับแสงอาทิตย์มาสร้างไฟฟ้ากระแสตรงและอินเวอร์เตอร์ที่ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อให้ใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนได้

1. แผงโซลาร์เซลล์ มีหลายประเภท ซึ่งประเภทที่นิยมกัน คือ แบบใช้สารกึ่งตัวนำซิลิคอน (Silicon Semiconductor) และในที่นี้ยังแยกย่อยออกเป็น อีก 3 ชนิดด้วยกัน ตามความบริสุทธิ์ของซิลิคอนที่ใช้สร้างแผง ได้แก่

1.1 ชนิด โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells) ทำมาจากซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์สูง จึงได้โซลาร์เซลล์สีเข้มที่มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่น สามารถแปลงไฟฟ้าได้มากถึง 15-20% และยังคงทำงานได้ดีแม้อยู่ในสภาวะแสงน้อย โดยหากมีการดูแลตรวจรักษาอย่างถูกต้อง โซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 25 ปี ทั้งนี้ ด้วยคุณภาพที่ได้ก็แลกมาด้วยราคาแผงที่แพงที่สุด 

1.2 ชนิด โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells) หรือมัลติ-คริสตัลไลน์ (Multi-crystalline, mc-Si) ผลิตจากซิลิคอนเหลว มีซิลิคอนน้อยกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์ จึงเป็นโซลาร์เซลล์ที่สีออกไปทางน้ำเงิน มีราคาถูกกว่าและประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับแผงชนิดโมโนคริสตัลไลน์ โดยประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 13-16% 

1.3 ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells) สร้างกระแสไฟฟ้าจากสารที่มีคุณสมบัติในการแปลงแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้ามาฉาบซ้อนกันหลายชั้น มีหลายชื่อเรียกต่างกันไปตามประเภทของสารที่เอามาฉาบ อาทิ อะมอร์ฟัส (Amorphous Silicon) แผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้มีราคาถูกที่สุด แต่ก็มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 7-13% เท่านั้น

จากข้อมูลข้างต้นนี้ แผงโซลาร์เซลล์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมที่สุด ทั้งในอุตสาหกรรมและครัวเรือน เพราะแม้จะมีราคาสูงแต่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานคุ้มค่าต่อราคามากที่สุด 

2. อินเวอร์เตอร์ มี 2 แบบ แบ่งตามระบบการผลิตไฟฟ้า ได้แก่

2.1 ระบบสแตนโลน (Stand-Alone) คือ ระบบที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เท่านั้น โดยมีแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ตอนกลางคืน

2.2 ระบบออนกริต (On-grid) ระบบซึ่งทำงานร่วมกับไฟฟ้าจากกฟผ. โดยสามารถสลับการใช้ไฟฟ้าไปมาระหว่างไฟฟ้าจากกฟผ. และไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของเรา โดยจะใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ต่อเมื่อแผงโซลาร์เซลล์สร้างปริมาณไฟฟ้าได้มากพอเท่านั้น เพื่อช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าจากกฟผ. โซลาร์เซลล์ระบบออนกริตเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่จะไม่เพียงพอ หรือในช่วงกลางวันที่ฝนฟ้าไม่เป็นใจหรือมีปัจจัยแทรกแซงอื่น ๆ  ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้ตามความต้องการ

หากต้องการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว อย่าลืมคำนึงถึงปัจจัยเรื่องสถานที่ ทิศทาง ตำแหน่ง ไปจนถึงโครงสร้างอาคารก่อน หรือทางที่ดีควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ เพื่อให้เราใช้โซลาร์เซลล์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบดูแลระบบโซลาร์เซลล์ได้อย่างเหมาะสม ให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนสูงสุดนั่นเอง